จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ตอนที่ 5 หลายปีที่ผ่านไป




นี่เป็นโพสต์ที่ห่างจากโพสต์ที่แล้วนานถึง 5 ปี ! ไม่น่าเชื่อว่า blog นี้ยังมีชีวิตอยู่ และยังมีคนเข้ามาอ่านเรื่อยๆ
นี่คงจะเป็นบันทึกขนาดยาวเรื่องแอคคอร์เดียน ที่ผมยังคงกลับมา up อยู่ หลังจากลองทำมาแล้วทั้งเว็บไซต์และเพจ และล้มเลิกไปหมดแล้ว เมื่อมี social media และสื่ออื่นๆ มากมาย การเขียน blog ก็ดูจะได้รับความสนใจน้อยลง เป็นเรื่องธรรมดา แต่ผมก็ยังกลับมาเขียนนะ 55 ผมไม่แน่ใจว่า ควรจะเขียนเรื่องไหนก่อนดี เพราะ 5 ปีที่ผ่านมา มีเรื่องราวเกี่ยวกับแอคคอร์เดียนมากมายเหลือเกิน เอาทีละเรื่องก็แล้วกัน

1.ผมขายแอคคอร์เดียนตัวแรกของผมไป และไม่ได้จับเปียนโนแอคคอร์เดียนอีกเลย แม้จะได้ขยับๆ บ้างตามโอกาส แต่ก็คงไม่คล่องเหมือนเดิมแล้ว 5-6 ปีที่ผ่านมา ผมเล่นแต่ diato ทั้งซ้อมทั้งเล่น ก็มีอยู่ตัวเดียวนี่แหละ
ช่วงปี 2561 สภาพมันแย่ลงด้วยหลายสาเหตุ ผมตัดสินใจเอาไปให้ "ลุงจุ่น" ซ่อมให้
ปรากฎว่า อาการหนักกว่าที่คิด เพราะนอกจากลิ้นเสียงภายในแล้ว ตัวสปริงติดคันโยกที่ปุ่มฝั่ง treble ยังโดนสนิมกินจนกรอบไปหมด ลุงจุ่น บอกว่า ลิ้นเสียงแกจะซ่อมให้ แต่ชุดสปริงให้ผมเอาไปซ่อมเอง แล้วแกก็แนะนำวิธีให้
คือ เอาสายกีตาร์สาย 6 มาลอกลวดอ่อนที่หุ้มออก แล้วเอาลวดที่เป็นแกนนั้นน่ะ มาขดเป็นสปริง
เชื่อมั้ยครับว่า กว่าจะได้สปริงครบ 21 ตัว ตามจำนวน 21 ปุ่มกดด้าน treble
มันยากชนิดที่เรียกว่า "เลือดตาแทบกระเด็น" เพราะสปริงที่หุ้มสายมันขาดง่ายมาก
ขาดทีก็ต้องแกะต้องแงะมาลอกกันใหม่ กว่าจะได้แต่ละมิลลิเมตร เกือบจะสติหลุด ทยอยแกะอยู่นานหลายวันกว่าจะลอกหมดและทำสปริงได้ครบ พอเสร็จแล้ว ก็ส่งกลับไปประกอบร่าง ลุงจุ่นก็อัดขี้ผึ้งมาให้เต็มบล็อกรีด
"ใช้ได้นานอีกหลายปี" ลุงจุ่นบอกด้วยความมั่นใจ และเสียงมันก็ดีขึ้นมากจริงๆ
ตอนไปรับและเทสต์ ผมดีใจจนน้ำตาจะไหล (จริงๆ นะไม่ได้เว่อร์)
เข้าใจซึ้งเลยว่า การมีเครื่องดนตรีดีๆ มันสำคัญสำหรับคนเล่นดนตรีขนาดไหน
แต่ก็นั่นละครับ ทุนเราไม่เท่ากัน ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามเหตุและปัจจัย

2.ผมตั้งใจว่า จะไปเล่นดนตรีเปิดหมวก ถึงขนาดไปทำใบขออนุญาตฯ เพราะเดี๋ยวนี้ ใครจะเล่นดนตรีเปิดหมวก ต้องไปทำใบอนุญาตนะครับ ถ้าไม่มีใบอนุญาตอาจโดนจับปรับได้ (รายละเอียดในการทำหาได้จาก google ครับ) แต่จนแล้วจนรอดดก็ยังไม่มีโอกาสจะได้ไปเล่นเปิดหมวกที่ไหนเลย ได้แต่เล่นอยู่บ้าน อัดคลิปลง facebook บ้างแชร์ลงในกลุ่ม diato ของต่างประเทศบ้างเท่านั้น

3.ถ้าถามว่าผมเล่น diato ได้ขนาดไหนแล้ว ?... ถ้าถามทักษะหรือความชำนาญ ผมก็ตอบไม่ถูกเหมือนกัน แต่เท่าที่เล่นมา เพลงที่เขาว่ายากระดับ 4 ดาว ผมก็เล่นได้หลายเพลงอยู่นะ และในช่วงหลัง มีหลายเพลงที่ผมไม่ได้แกะจาก Tab หรือโน้ตเลย แต่ by ear คือฟังแล้วก็แกะออกมาเป็นเพลง ก็คิดว่า เราก็ชำนาญในระดับหนึ่ง แต่ถ้าให้อธิบายแบบทฤษฎีดนตรี ตัวโน้ตใดๆ ผมคงไม่สามารถอธิบายได้นะครับ เพราะไม่มีความรู้ด้านทฤษฎีเลย

4. ผมเล่น tune (เพลงของ diato) ได้ราวๆ 60 เพลง ดูเหมือนเยอะ แต่จริงๆ มันคือเพลงสั้นๆ ที่เล่นซ้ำไปซ้ำมา แต่ละเพลงเล่นสัก 2-3 รอบ ก็ราว 1 นาที ถ้าเล่นทุกเพลง ก็คงได้สัก 1 ชั่วโมงละมั้ง แต่เอาเข้าจริง ก็มีเพลงที่ชอบเล่นบ่อยๆ กับเพลงที่ไม่ค่อยได้เล่น ปนๆ กันอยู่

5. สิ่งที่ผมชอบมากอย่างหนึ่งในการเล่น Diato คือ มันมี tune มากมายก่ายกองให้เราเลือก ทั้งที่เป็นโน้ต ทั้งที่เป็น ABC notation ทั้งที่เป็น Tab แจกฟรี ชอบเพลงไหนก็เซฟไฟล์เสียง กับไฟล์ Tab (pdf หรือ jpg) เก็บไว้หัดเล่น เพลงของแต่ละวัฒนธรรมก็มีความแตกต่างกันไป เพลงฝรั่งเศสก็เป็นแบบหนึ่ง เพลงอังกฤษก็อีกแบบหนึ่ง เพลงอาร์เมเนียก็ออกแขกๆ หน่อย เพลงสแกนดิเนเวียนก็สำเนียงเฉพาะตัวบางอย่าง เพลงไอริชก็มีเอกลักษณ์มากๆ ฯลฯ เพลงส่วนใหญ่ มีแค่ 2 ท่อน ส่วนน้อยที่มีถึง 3 ท่อน หรือมากกว่า การเลือก Diato คีย์ GC มันทำให้สามารถเล่นเพลงจาก Tab ส่วนใหญ่ได้ น่าจะราว 80-90% แต่ถ้าใครจะ up level ไปเล่นเพลงไอริช ก็คงต้องหาคีย์ DG BC C#D หรือ DD# ที่เหมาะสมมากกว่า

6. ช่วงหนึ่ง ผมเคยได้ครอบครอง diato แบบ 3 แถวคีย์ GCF โดยรุ่นพี่ท่านหนึ่งให้ความเมตตา เอาไปเล่นก่อนผ่อนทีหลัง ซึ่งการได้เล่นมัน ช่วยเปิดหูเปิดตาผมมากขึ้นจริงๆ แม้ว่าน้ำหนักมันจะไม่น้อยเลย แต่เสียงที่ใสและคม ของมันก็น่าประทับใจจริงๆ แต่มันอยู่กับผมได้ไม่นาน ด้วยความจำเป็นทางการเงิน ผมก็ต้องขายมันไป

7. งาน Accordion Party จัดครั้งที่ 1 ที่ จ.ราชบุรี เมื่อปี 2559 และรวมคนเล่นแอคคอร์เดียนทั่วประเทศไทยได้ราว 30 คน บรรยากาศสนุกสนานเฮฮามากๆ จากนั้นก็มีการจัดต่อเนื่องมาทุกปีที่กรุงเทพฯ แต่มาปีนี้ (2563) ด้วยเหตุโควิท 19 ก็จึงต้องเลื่อนการจัดงานออกไป ผมได้ร่วมจัดงานในครั้งแรก โดยช่วยทำ art work และช่วยเป็นวิทยากร ครั้งต่อๆ มา ก็ได้ช่วยงานตามโอกาสจะอำนวย

8. ถ้ามองโดยภาพรวม ผมคิดว่า หลังจากงาน Accordion Party ครั้งที่ 1 แล้ว วงการแอคคอร์เดียนในประเทศไทยก็มีการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น มีคนเก่งๆ ที่โดดเด่นขึ้นมา และได้มีโอกาสแสดงความสามารถ , มีคนรุ่นใหม่ที่มีพื้นฐานทางดนตรีและหันมาเล่นแอคคอร์เดียนอย่างจริงจัง ,มีคนที่มีใจรักในแอคคอร์เดียน เข้ามาร่วมกันแบ่งปันความรู้ ฯลฯ ในส่วนของ diato เองก็มีการเติบโตเล็กน้อย คือมีผู้สนใจอีกท่านหนึ่ง ติดต่อมาว่าอยากจะเล่น ผมก็ได้ช่วยแนะนำเท่าที่จะสามารถช่วยได้ แต่เนื่องจาก diato มันเป็นอะไรที่เฉพาะตัว ถ้าไม่ได้ชอบเพลง tradition มากพอและมีลูกฮึด(ในการหัดเล่น/ในการหาเครื่องดนตรี)ระดับหนึ่งก็คงยากที่จะเล่นได้

9. ผมโพสต์คลิปใน Youtube  บ้าง จำนวนยอดวิวน้อยนิด ส่วนใหญ่คนมาดูน่าจะเป็นชาวต่างประเทศ มีคนไทยมาชมและถามคำถามเกี่ยวกับแอคคอร์เดียน ในเชิงเทคนิค การซ่อมแซม ฯลฯ ซึ่งผมไม่ทราบ ก็ขอให้ไปถามผู้รู้ท่านอื่น การที่ผมเล่น diato และเขียนบล็อกเกี่ยวกับแอคคอร์เดียน ไม่ได้หมายความว่า ผมจะรู้ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับแอคคอร์เดียนนะครับ ที่ตอบได้ก็จะพยายามตอบ ที่ตอบไม่ได้ก็ต้องบอกตามตรงว่า ไม่ทราบ

10. หลายครั้งที่ผมสงสัยว่า "ตัวเองมาเล่น diato ทำไม ?" เพราะมันไม่เพื่อนที่จะมาเล่นด้วยกันได้เลย มันเป็นอะไรที่โดดเดี่ยวมากๆ ไม่รู้จะคุยกับใคร เอาเข้าจริง มันแตกต่างจากเปียนโนแอคคอร์เดียน แบบคนละเรื่องกันเลย ทั้งวิธีการเล่น และเพลงที่เล่น พอไปอยู่ในกลุ่มคนเล่นเปียนโนแอคคอร์เดียน ผมก็ไม่สามารถจะไปคุยแลกเปลี่ยนอะไรกับเขาได้ แต่มันก็คงจะมีเหตุผลอะไรของมันอยู่ละมั้ง...หนทาง ก็ต้องถากถางไป หากมีผู้สนใจ(อย่างจริงจัง) ผมก็ยินดีให้คำแนะนำอย่างเต็มที่นะครับ

11. ชีวิตส่วนตัวผมหลังจากออกจากงานประจำเมื่อปลายปี 2560 เพื่อกลับบ้านมาทำธุรกิจส่วนตัว ตอนแรกทำท่าจะดี แต่แล้วก็กลับล้มคว่ำคะมำหงาย ไม่เป็นไปอย่างที่คิด ใช้ชีวิตในปี 2561 อย่างทุลักทุเล กลับมาได้งานประจำอีกครั้งตอนปลายปี แม้จะต้องย้ายกลับไปอยู่กรุงเทพฯ ก็เป็นไปเพื่อความอยู่รอด แต่ทำไปได้สักพัก ก็ต้องร้องเพลงพี่เบิร์ดว่า "ฉันมาทำอะไรที่นี่ ?" เหมือนไปให้เขาต้มยำทำแกงแท้ๆ สุดท้ายก็ต้องลาออก กระหน่ำสมัครงาน และวิ่งสัมภาษณ์งานแบบที่ "เหมือนจะให้ความหวัง แต่แล้วก็สิ้นหวัง" พอผ่านปีใหม่ 2562 ไปได้แค่เดือนเดียว ผมก็ต้องลาออกกลับมาอยู่บ้าน รู้สึกพ่ายแพ้และไร้ค่า สำหรับผม นี่เป็นปีที่ยากลำบาก เหมือนเชือกที่ถูกขึงจนตึงเปรี๊ยะ พร้อมจะขาดได้ทุกเมื่อ กระนั้น ณ ตอนนี้ที่เขียนบทความ ผมก็ยังมีชีวิตอยู่ ยังพยายามที่จะไม่ให้จิตใจตัวเองตกต่ำจนเกินไป ทำนู่นทำนี่ไป เท่าที่จะมองเห็นว่าตัวเองสามารถทำได้

ค่ำคืนนี้ช่างยาวนานจริงๆ ผมหวังจะเห็นพระอาทิตย์ขึ้นเสียที

(*clip เพลง Deja Vu ความยากระดับ 4 ที่เล่นได้แล้วปลื้มมาก แต่ถ้าไม่เล่นนานๆ กลับไปเล่นอีกไม่ได้แล้ว)




วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2558

ตอนที่ 4 Hohner Poker Work

มานับย้อนหลังดู ได้เห็นเรื่องจริงอันน่าตระหนก (แต่คนอื่นคงจะขำ) นั่นคือ ผมอัพ blog ปีละ 1 ครั้ง !
ถ้าไม่มี comment เข้ามา ผมคงจะลืมไปแล้วว่าผมเขียน blog เรื่องแอคคอเดียนอยู่นะ
วันเวลาเคลื่อนไป ชีวิตก็หมุนเวียนไป แต่เสียงแอคคอเดียนยังคงดังอยู่ในใจ
เลยต้องกลับมา up blog กันต่อไป 

ครับ จากตอนที่แล้ว ผมเล่าเรื่องแอคคอเดียนสารพัดประเภทที่ผมได้ศึกษาจากอินเตอร์เน็ตแล้ว ก็มาถึงจุดเปลี่ยนในการเล่นแอคคอเดียนของผมอีกครั้ง
หลังจากที่ผมได้หัดเล่นแอคคอเดียนจากเจ้า 80 เบสมาได้ประมาณ 2 ปี ซึ่งก็เล่นเพลงทั้งฝรั่งและไทยได้ประมาณหนึ่ง เช่น La Valse D Amilie,Katyusha,Korobushka ฯลฯ ผมพยายามหัดเพลงหลากหลายประเภท เท่าที่ความรู้และความสนใจไปถึง แต่แล้วก็สังเกตตัวเองว่า ชอบเล่นเพลงพวก tradition ของยุโรปมากที่สุด เพราะส่วนใหญ่เป็นเพลงสั้นๆ ง่ายๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพลงเต้นรำที่เรียกกันว่า Balfolk และเครื่องดนตรีที่ไปกันกับดนตรีแนวนี้ได้ จะไม่ใช่เปียโนแอคคอเดียน แต่เป็น diatonic accordion

ผมและเราๆ ท่านๆ ที่สนใจแอคคอเดียน(ซึ่งมีจำนวนอยู่เพียงน้อยนิดในประเทศไทย)ย่อมทราบว่า เปียโนแอคคอเดียนนี่ก็ว่าหายากแล้ว เพราะไม่ใช่เครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยม ยิ่งเป็นเครื่องดนตรีเฉพาะทางอย่าง diatonic accordion (ซึ่งต่อไปจะขอเรียกสั้นๆ ว่า diato) ยิ่งหายากเข้าไปใหญ่ ครั้งจะซื้อของใหม่ ราคาค่าตัวมันก็ไม่ใช่ถูกๆ แม้ diato จีนจะราคาแค่ไม่กี่พัน แต่ผมก็ไม่อยากเสี่ยง ส่วนของฝรั่งอย่างถูกสุดคือ Hohner Phanther ตอนนั้นก็เกือบสองหมื่น ยังไม่ต้องกล่าวถึง “มาตรฐานแบบยุโรป” แบรนด์ Castagnari หรือ Saltarelle ซึ่งราคาอยู่แถว 2 สองพันเหรียญสหรัฐฯ (เท่านั้น!)

เท่าที่ผมทราบ ในยุคสมัยหนึ่ง คาดว่าน่าจะราวๆ ยุค 2510-2520 ประเทศไทยมีการนำเข้าเจ้า diato อยู่จำนวนหนึ่ง ทั้งแบบแถวเดียวและแบบสองแถว รวมทั้งแบบที่เรียกว่า Cajun  ซึ่งนานๆ ทีเราจะเห็นมันโผล่มาในร้านขายของเก่าหรือพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของนักสะสม มีทั้งแบบสภาพเป็นซากตั้งโชว์ได้อย่างเดียว หรือสภาพดี เล่นได้ แต่ฟังราคาแล้วสะดุ้งไปแปดตลบ
แม้มันจะเป็นแอคคอเดียนเหมือนกับเปียโนแอคคอเดียน แต่เจ้า diato มันก็ไม่ใช่เครื่องดนตรีประเภท universal ที่เล่นเพลงอะไรก็ได้ เพราะมันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเล่นเพลงของมัน

งานอดิเรกประการหนึ่งของผมในเวลาต่อมา คือผมพยายามเสาะหาเจ้า diato ไม่ว่าจะแบบแถวเดียวหรือสองแถวอยู่เนืองๆ ส่วนใหญ่ติดต่อไป เขาก็จะบอกว่า ขายไปแล้ว ผมเองก็ยังไม่ละความพยายาม ว่างเมื่อไรก็จะค้นหาด้วยครู google ทุกทีไป
หลังจากหาอยู่นานกว่าปี เช้าวันหนึ่งโชคก็เข้าข้างผม เพราะพอค้นหาในกูเกิ้ล เจ้า Hohner Pokerwork ก็มาโผล่หน้าทันที แถมเป็นแบบ 2 แถวเสียด้วย ! ที่สำคัญ ราคาไม่แพงมาก
ผมกดโทรศัพท์ไปตามเบอร์ที่ประกาศ ผู้ชายเสียงนิ่มๆ รับและบอกว่า ของยังอยู่ ถ้าสนใจแวะมาดูได้ตอนเย็น

วันนั้นหลังเลิกงาน ผมตรงดิ่งไปที่บ้านของเขา ไปถึงก็พลบค่ำแล้ว
ทักทายกันนิดหน่อย พี่เขาก็เดินไปหยิบเจ้า diato มาให้ผมลอง
“ผมซื้อไว้นานเป็นสิบปีแล้ว ก่อนมาถึงผมมันก็เก่าอยู่แล้วล่ะ ผมก็เอามาหยิบๆ จับๆ เล่นบ้าง เล่นไม่เป็นหรอก แต่ผมชอบเสียงของมัน” พี่ผู้ชายผู้เป็นเจ้าของเล่าให้ผมฟัง
“ผมรักมันนะ มันอยู่กับผมมานาน แต่ก็...คิดว่าขายดีกว่า เผื่อจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น คุณจะเอาไปเล่นใช่มั้ย?”
ผมตอบไปว่า ใช่ครับ ผมตามหามันมานานแล้ว ผมเล่นแอคคอเดียนอยู่ และอยากได้มันมาก มันใช้เล่นเพลงเฉพาะอย่าง ไม่ใช่เพลงทั่วไป เขาฟังแล้วก็พยักหน้ารับยิ้มๆ
“ผมก็ว่างั้น เพราะจะเอามันไปเล่นเพลงอะไรก็ยาก มันคงต้องเล่นเพลงของมัน อย่างที่คุณว่านั่นแหละ”
ผมสำรวจดูอย่างละเอียดและพบว่ามันเป็นคีย์ GC ซึ่งเป็นคีย์มาตรฐานสำหรับการเล่น diato ลองชักเข้าชักออก เสียงยังดัง ปุ่มกดโอเคทุกปุ่ม มีร่องผุระหว่างปุ่มหนึ่งร่อง กระเพาะ(bellow)รั่วบางจุด แต่โดยรวมแล้วถือว่าสภาพยังดี
ใครเคยเล่นเปียนโนแอคเดียนแล้วมาจับเจ้า diato รับรองได้ว่า จะรู้สึกเหมือนแบกข้าวสาร แล้วจู่ๆ ก็เปลี่ยนมาถือหมอน คือมันเบามาก เบาพอๆ กับหรืออาจจะเบากว่ากีตาร์หนึ่งตัว
 “มีคนโทรมาก่อนคุณ เขาเปิดร้านอาหารอยู่ อยากได้มันไว้ประดับร้าน แต่ผมว่า มันเป็นเครื่องดนตรี ควรอยู่กับคนเล่นดนตรี ไม่น่าไปตั้งอยู่เฉยๆ ผมเองก็เล่นซอด้วง อยากให้มันไปอยู่กับคนที่รักมันมากกว่า ดีแล้วล่ะที่คุณได้มันไป”
ผมคุยกับเขาอีกชั่วครู่ ชำระค่าตัวเจ้า diato ให้แก่เขา ขอสิทธิ์เป็นผู้ดูแลมันต่อ ก่อนจะขอตัวกลับบ้าน ด้วยหัวใจที่พองโต ก็แหม่ ! อยากได้มานาน จู่ๆ ได้เป็นเจ้าของก็ต้องยินดีปรีดาเป็นธรรมดา
ค่ำวันนั้น ผมรู้สึกว่า การที่เราจะได้เจอกับเครื่องดนตรีที่เราปรารถนามันก็คล้ายจะเป็น “ชะตาลิขิต” อยู่เหมือนกันนะ

ภารกิจต่อมาของผมคือต้องเอามันไปซ่อมแซมให้กลับมาอยู่ในสภาพที่เล่นได้ ผมโทรติดต่อช่างที่เคยใช้บริการ ปรากฏว่าไม่มีใครรับสาย ผมคิดอยู่ชั่วครู่ก็ตัดสินใจโทรหาช่างอีกท่านหนึ่ง ซึ่งคนเล่นแอคคอเดียนคงจะรู้จักกันดี
“ก็มีกระเพาะรั่ว 2-3 จุดครับ บางปุ่มฝืดมากกดแล้วจมเลย  แป้นกดก็ผุเป็นรูโหว่ ช่างพอจะซ่อมได้มั้ยครับ?”
“ได้ครับ ยกมาได้เลย”
ช่างบอกซ่อมได้ ผมก็ยกไปเลยล่ะครับ บ้านช่างอยู่ในซอยเล็กๆ แถวเสาชิงช้า มีแอคคอเดียนกับกีตาร์วางรอให้ซ่อมอยู่หลายสิบตัว
“อ้อ-แบบสองเสียงนี่ ไม่ได้เห็นมานานเลย” ช่างทักทายเจ้า diato เหมือนเพื่อนเก่า “ต้องปะกระเพาะ ทำแป้นใหม่ ติดมุ้ง(ผ้ากันฝุ่นตะแกรงหน้า) ทำสีตะแกรงหน้า ติดสายหนังคล้องนิ้วโป้ง คงต้องสักสองสัปดาห์นะครับ ช่วงนี้ผมค่อนข้างยุ่ง แต่จะค่อยๆ ทำให้”
ผมพยักหน้ารับทราบรายการซ่อมแซมยาวเหยียดที่ช่างจะต้องทำ ไม่มีปัญหาครับ รอได้อยู่แล้ว
ช่างถามผมว่า ไปได้มาจากที่ไหนอย่างไร เพราะสภาพค่อนข้างดีอย่างนี้หายาก ส่วนใหญ่จะเป็นซากหมดแล้ว ผมก็อธิบายช่างไปว่า ผมหาจากอินเตอร์เน็ต แล้วก็เรียนรู้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับแอคคอเดียนจากอินเตอร์เน็ต รู้สึกว่าช่างจะสนใจเรื่องการใช้อินเตอร์เน็ตอยู่เหมือนกัน ผมจึงแนะนำเรื่องการใช้ google กับ youtube ไป

สองสัปดาห์หลังจากนั้น ผมกลับไปหาช่างอีกครั้ง เจ้า diato ของผม เหมือนรถเก่าที่ถูกซ่อมแซมจนกลับมาใช้งานได้อีก แม้จะไม่ 100% ด้วยอายุอานามของมัน  แต่ก็นับว่าเยี่ยมยอดแล้ว
“มีลูกค้ามาขอซื้อด้วยนะ แต่ผมบอกไปว่า ไม่ได้หรอก นี่ของลูกค้าคนอื่นเขาเอามาซ่อม”ช่างบอกกับผม
(แสดงว่าเจ้า diato ตัวนี้มีเสน่ห์ไม่เบาเหมือนกันนะเนี่ย )
จ่ายเงินค่าซ่อมแล้ว ผมก็หอบหิ้วมันกลับที่พัก แล้วก็หัดเล่นทันที
วันแรกที่หัดเล่น ผมพบว่า แม้ diato จะมีน้ำหนักเบา ดึงออกและดันเข้าง่ายกว่าเปียนโนแอคคอเดียน แต่ด้วยความที่เสียงเข้าและออกของมันไม่เหมือนกัน  รวมทั้งช่วงยาวของกระเพาะก็เป็นข้อจำกัด ไม่สามารถลากเสียงยาวเฟื้อยได้ มันจึง “ขัดๆ” กับความคุ้นชินเดิมอยู่ไม่น้อย กว่าจะหัดเพลงแรกได้ก็เล่นเอาเหงื่อตก นอกจากนี้ ความเก่าของมัน ก็ยังทำให้มีสนิมเกาะกรังอยู่ที่สปริงกลไกปุ่มกด ทำให้บางปุ่มกดลงไปแล้วไม่เด้งกลับ ผมต้องไปซื้อน้ำยาฉีดล้างสนิมมาช่วยจัดการ จึงแก้ปัญหาไปได้
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่แก้ไม่ตก คือเนื่องจากมันเก่ามากแล้ว “แผ่นผ้ากำมะหยี่ ที่รองปุ่มกด” ก็เปื่อยไปหมด ทำให้เวลาเล่น มันจะมีเสียงแก๊กๆ ของปุ่มที่กระทบกับแป้น แต่ดูจากคลิปที่ฝรั่งเล่นก็เห็นว่ามีปัญหาเดียวกัน

ผมคิดขึ้นได้อีกอย่างว่า มันไม่มีกล่องหรือถุงใส่ ซึ่งมันคงจะลำบากหากต้องหอบหิ้วไปไหนๆ ผมจึงค้นหาร้านที่รับทำกระเป๋าใส่เครื่องดนตรี ก็ไปเจอเจ้าหนึ่ง ดูตัวอย่างฝีมือดีทีเดียว ราคาไม่แพงมาก ก็ดำเนินการเจรจา วัดไซส์แล้วก็โอนตังค์ไป หนึ่งเดือนหลังจากนั้นก็ได้รับกระเป๋าใส่ diato แบบพอดี๊พอดีตัวมาเลย

ช่วงแรกๆ ที่เริ่มเล่น diato ได้ ผมเห่อมาก ฝึกซ้อมทุกวัน ช่วง 2-3 เดือนแรกผมหัดจนสามารถเล่นเพลงง่ายๆ ได้ประมาณ 20 เพลง แต่ต่อมาการงานชักเริ่มจะยุ่ง นานๆ จึงจะซ้อมเพลงใหม่สักที พยายามปรับเวลาให้ตัวเองซ้อมทุกวัน วันละ 15-20 นาทีก็ยังดี
Hohner Pokerwork เป็น diato ที่เสียงดัง ดังกว่าเปียโนแอคคอเดียนตัวแรกของผมเสียอีก ตอนเย็นๆ นั่งเล่นแถวบ้าน เสียงลอยไปไกลเป็นร้อยเมตร
ผมเคยเอาไปเล่นให้เพื่อนฟัง มันแปลกอยู่ตรงที่ตอนแรกๆ ทุกคนจะรู้สึกแปลกๆ เพราะมันเป็นเครื่องดนตรีที่ไม่เคยรู้จัก แถมยังเป็นเพลงที่ไม่มีใครเคยได้ยินมาก่อน แต่พอเล่นๆ ไป ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า
 “ฟังแล้ว รู้สึกผ่อนคลายอย่างบอกไม่ถูก” บางคนถึงกับถามว่า ราคาเท่าไร จะหาซื้อได้ที่ไหน อยากเล่นเป็นบ้าง
เป้าหมายของผมคืออยากเล่นได้ให้สัก 50 เพลง จากนั้นจะหาโอกาสไปเล่นเปิดหมวก


แค่นี้แหละครับ ที่อยากทำ


วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

ตอนที่ 3 ประเภทของแอคคอเดียน

ช่วงเริ่มต้นศึกษาเรื่องแอคคอเดียน
ผมได้พบกับความน่าตื่นตาตื่นใจอย่างหนึ่งคือ
แอคคอเดียนเป็นเครื่องดนตรีที่มีความหลากหลายมาก
ทั้งประเภท ทั้งรูปร่าง ทั้งเสียง ยังไม่นับบทเพลงที่แตกต่างหลากหลาย
ไปตามวัฒนธรรมของแต่ละ้ท้องถิ่น
เฉพาะเพลงพื้นบ้านของฝรั่งเศสที่ใช้แอคคอเดียนบรรเลง
เท่าที่ผมพอจะพบเจอในอินเตอร์เน็ตก็น่าจะหลายพันเพลงแล้ว
ยังไม่นับที่ไม่ได้เผยแพร่อีก
แล้วของประเทศอื่นๆ อีกตั้งเท่าไร

เรียกว่า ถ้าคุณหันมาศึกษาและเล่นแอคคอเดียนแล้ว
ทั้ง Hardware(แอคคอเดียน) และ Software(เพลง หรือ tune )
มีให้เล่นให้ลองของแปลกๆ ใหม่ๆ ไม่ซ้ำได้ตลอดชีวิตเลยละ

มาตามสัญญาที่บอกไว้เมื่อตอนที่แล้วว่าผมจะเขียนเรื่องประเภทของแอคคอเดียน
ซึ่งก็ต้องออกตัวก่อนว่า นี่เขียนตามที่ผมค้นคว้ามาเท่านั้น ยังไม่ใช่ที่สุด
ต่อไปในภายหน้า อาจจะมีข้อมูลใหม่ๆ มาเพิ่มเติมอีก

แอคคอเดียนเป็นเครื่องดนตรีประเภท "ลิ่มนิ้ว" คือใช้นิ้วกด ควบคุมการเปิดปิด
ของลมที่ผ่าน "ลิ้นทองเหลือง"(reeds) ให้เกิดเสียงตามที่ต้องการ
ฉะนั้น ในการแบ่งประเภทของแอคคอเดียนด้วยระบบ "ภายใน"
จึงได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1.แบบเสียงเดียว (Chromatic) เป็นแอคคอเดียนแบบที่แพร่หลายที่สุดนิยมเล่นทั่วโลก โดยเฉพาะ "เปียนโนแอคคอเดียน" หรือแอคคอเดียนที่มีลิ่มนิ้วแบบเปียนโน ที่เราๆ ท่านๆ รู้จักและคุ้นเคย ก็คือ
แบบเสียงเดียวนี่แหละครับ แอคคอเดียนแบบนี้ ส่วนใหญ่จะมีคีย์ครบทั้งเต็มเสียง ทั้งครึ่งเสียง มีน้ำหนักมาก
ที่ได้ชื่อว่าเป็นแบบเสียงเดียว เพราะเมื่อเรากดปุ่ม ไม่ว่าเราจะชักแอคคอเดียนเข้าหรือออก มันก็จะได้เสียงเพียงเสียงเดียว เพราะลิ้นทองเหลืองหันไปด้านเดียวกัน
ยังมีอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า button accordion หรือบางทีก็เรียกว่า chromatic accordion ซึ่งแทนที่จะเป็นลิ่มนิ้วแบบเปียนโน แต่จะเป็นปุ่มกดแทน แบบนี้จะเป็นที่นิยมมากในยุโรป เหมาะสำหรับเล่นเพลงที่ซับซ้อน เช่น เพลงคลาสสิก ซึ่งในแบบเสียงเดียวนี้ ยังแบ่งออกตามการวางปุ่มเบสอีก 3 แบบ กล่าวคือ
   
      1.1 การวางปุ่มเบสแบบ Stradella Bass เป็นการวางแบบทั่วไปที่นิยมใช้กันมากที่สุด คือวางเรียงเป็นแถว โดยแถวตามแนวนอนจะเป็นเสียงประเภทเดียวกัน ไล่จากข้างบนลงมาคือ major 3rd note,root note,
major chord , minor chord , dominant seventh chord และ diminshed seventh chord (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Stradella_bass_system )
      1.2 การวางปุ่มเบสแบบ Bayan เป็นการวางเบสของแอคคอเดียนที่นิยมในรัสเซีย มีการวางที่แตกต่างจาก Stradella Bass มาก เรียกว่า ถ้ามาหัดเบสแบบนี้ ก็ต้องเรียนรู้กันอีกรอบ (เบสแบบนี้เหมาะกับเพลงรัสเซียซึ่งมีไมเนอร์และครึ่งเสียง เอาไปเล่นเพลงแบบอื่นๆ น่าจะยาก)
      1.3 การวางปุ่มเบสแบบ Free Bass เป็นการวางเบสที่พัฒนาขึ้นมา เพื่อให้ผู้เล่นในระดับสูง สามารถเล่นเบสเป็นเมโลดี้ได้ นักดนตรีแอคคอเดียนระดับมืออาชีพ เล่นเพลงคลาสสิกจะใช้แอคคอเดียนประเภทนี้


2.แบบสองเสียง (Diatonic) เป็นแอคคอเีดียนที่นิยมเล่นในแถบยุโรป และอเมริกาใต้ แบบนี้เราไม่ค่อยคุ้นเคย เพราะใช้เล่นเพลง tradition หรือเพลงพื้นบ้านเป็นหลัก ที่ได้ชื่อว่าเป็นแบบสองเสียง เพราะว่าเื่มื่อเรากดปุ่ม ชักออกจะเป็นเสียงหนึ่ง พอดันเข้าก็จะเป็นอีกเสียงหนึ่ง เช่นเดียวกับปุ่มเบส ก็จะเป็นสองเสียงเช่นกัน
แอคคอเดียนแบบนี้จะมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา แต่การหัดเล่นก็ไม่ง่ายนะ เพราะเข้าเสียงหนึ่ง ออกอีกเสียงหนึ่ง

3.นอกจากทั้งสองแบบดังกล่าวแล้วยังมีแบบที่เรียกว่า "ลูกผสม"(Hybrid) คือฝั่ง treble จะเป็น diatonic แต่ฝั่ง bass จะเป็น stradella bass เช่นแบบที่เรียกว่า British Chromatic System


ถ้าแบ่งด้วยระบบภายในก็จะได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ นี่ละครับ แต่ถ้าแบ่งด้วยลักษณะภายนอก จะได้มากมายหลายประเภท บางอย่างก็มีรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีก เอาเท่าที่ผมทราบ และพอจะรวบรวมมาได้ ก็มีดังนี้ครับ

1. Piano Accordion แบบนี้เรารู้จักกันดีที่สุดดังที่กล่าวมาแล้ว แบบมาตรฐานมีตั้งแต่ 12 เบส ไปจนถึง 120 เบส (ระดับสูงกว่านั้นเป็นแบบพิเศษคือ 160 เบส และ 180 เบส) ส่วนลิ่มนิ้วมีตั้งแต่ 25 ไปจนถึง 41 และมี register (สวิทช์เปลี่ยนเสียง) ได้ต้ังแต่ 1 ถึง 15 ปุุ่ม (ถ้าเป็น แอคคอเดียนไฟฟ้า เช่นของ Roland ก็สามารถปรับเสียงได้มากกว่านี้) ขนาดและน้ำหนักก็ใหญ่ไปตามจำนวนเบส
เปียนโนแอคคอเดียน มีมากมายนับสิบนับร้อยแบรนด์ ถ้าเป็นแบรนด์ระดับโลก ราคาตัวละเป็นแสนบาทขึ้นไป ก็มักจะมาจากอิตาลี่ เช่น แบรนด์ Titano , Petosa , Scandali ,La Tosca ฯลฯ
และแบรนด์แถบสแกนดิเนเวีย ซึ่งนิยม button accordion ก็จะมีแบรนด์ดังเช่น Lasse Pihlajamaa และ Kouvola Casotto
ส่วนแบรนด์เยอรมัน อาจจะไม่ได้เน้นหรูหราอลังการขนาดนั้น แต่จะเป็นที่รู้จักมากกว่าคือ Hohner ที่คนไทยคุ้นเคยที่สุด และอีกแบรนด์คือ Welmeister
แบรนด์อเมริกามีเยอะครับ แต่มักจะเป็นแบรนด์ใหม่ ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก
แอคคอเดียนจีนที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น Golden Cup ,Ying Jee และ Landwin แม้ราคาจะถูกกว่า แต่คุณภาพก็ต่ำกว่า อายุการใช้งานไม่นาน
ส่วนแอคคอเดียนรัสเซียซึ่งวางเบสแบบ Bayan นั้น ก็เป็นที่นิยมเล่นเฉพาะในรัสเซียและเยอรมันเท่านั้น เพราะเอาเป็นเล่นเพลงแบบอื่นคงลำบาก
ลองเข้าไปดูที่ www.libertybellows.com ซึ่งเป็นร้านขายแอคคอเดียน จะมีตัวอย่างเปียนโนแอคคอเดียน
หลายๆ แบบให้เราดู


2.Diatonic Accordion เนื่องจากแอคคอเดียนประเภทนี้ จะมีลักษณะเ็ป็นกล่อง ขนาดพอๆ กับกล่องใส่รองเท้า และมีปุ่มติดอยู่สองข้าง (treble กับ bass) บางทีจึงเรียกว่า "ฺีButton Box" ในอังกฤษและฝรั่งเศสจะเรียกว่า Melodeon (คนละอย่างกับเมโลเดียนที่เป็นเครื่องเป่าในวงโยธวาทิตแต่ชื่อเหมือนกัน) ส่วนเยอรมันเรียกว่า Knoffakkordeon เนื่องจากแอคคอเดียนประเภทนี้ จะไม่มีเสียงครบเหมือนพวก chromatic กล่าวคือ จะมีครึ่งเสียงแค่บางเสียงเท่านั้น และการวางปุ่ม treble มักจะวางตามคีย์เสียงและจะเรียกคีย์ตามการวาง โดยนับจากแถวล่างขึ้นไป เ่ช่น GC ,AD ,CF ,CGF ,ADG ฯลฯ
แบรนด์ที่เป็นที่รู้จักในแอคคอเดียนแบบนี้ ก็ได้แก่ Hohner ,Welmeister ,Saltarell ,Castagnari และ Bertrand Guillard โดยเฉพาะ Castagnari เป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมมาก ตั้งแต่มือสมัครเล่น(ทีมีงบฯ เยอะหน่อย) ไปจนถึงมืออาชีพ ส่วน Hohner จะเป็นแบรนด์ยอดนิยมสำหรับผู้เริ่มต้น
แต่ถ้าแถบอเมริกากลางไปจนถึงอเมริกาใต้ที่นิยมเล่นเพลงสไตล์ที่เรียกว่า Tex-Mex หรือ Bluegrass
แบรนด์ Horner รับประทานเรียบนะครับ

3.Garmoshka หรือ Garmonica หรือ Garmon เป็นเครื่องแอคคอเดียนรัสเซีย หน้าตาคล้ายๆ Diatonic Accordion แต่ไม่ใช่นะครับ แค่คล้ายๆ เท่านั้น เพราะเจ้านี้จริงๆ แล้วเป็น Chromatic Accordion คือมีเสียงเดียว มีด้าน treble 25 ปุ่ม และด้าน bass 25 ปุ่ม นิยมเล่นมากในรัสเซียและประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของรัสเีซีย เจ้าตัวนี้เป็นส่วนสำคัญของดนตรีพื้นบ้านรัสเซียเลยครับ แทบจะขาดไม่ได้เลย นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ของรัสเซียก็หันมานิยมเล่นกันไม่น้อยเหมือนกัน
เจ้า Garmon นี่มีอยู่หลายยี่ห้อเหมือนกันครับ เช่น Tula, Khromka,Vyatka,Livenka และมีให้ลองฟังเสียงได้ใน youtube เยอะแยะเลยครับ
(เพลงรัสเซียมีเสน่ห์แบบประหลาดๆ อยู่ ผมหวังว่า สักวันจะได้เป็นเจ้าของ Garmon สักตัว)


4.Saratovskaya garmonika จริงๆ มันเป็นแอคคอเดียนรัสเซียแบรนด์หนึ่ง ซึ่งเพิ่งจะได้รับการฟื้นฟูโรงงาน และเริ่มต้นผลิตใหม่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่มันเป็น Diatonic ครับ ไม่ใช่ Chromatic และผมเห็นว่ามันน่าจะแยกออกมา เพราะความพิเศษของมัน มันมีเอกลักษณ์ที่น่าัรักมากๆ อย่างหนึ่งที่ไม่มีแอคคอเดียนใดๆ ในโลกจะมี นั่นคือ "กระดิ่ง"ที่เหมือนกระดิ่งจักรยาน 2 อันที่ติดอยู่ด้านเบส ดังนั้นนอกจากเสียงเพลงทั่วไปแล้ว เจ้านี้ยังผลิตเสียงกระดิ่งไปพร้อมๆ กันได้ด้วย ให้ตายเถอะโรบิน มันเท่ห์จริงๆ นะ!


5.Steirishe Harmonik เป็นแอคคอเดียนแบบ Diatonic ที่ขนาดไม่เล็กเพราะ treble จะมีตั้งแต่ 3 แถวขึ้นไป และเสียงก็ดังกระหึ่ม เพราะใช้เบสแบบเฉพาะที่เรียกว่า Helikon Bass แอคคอเดียนแบบนี้ นิยมมากในยุโรปตอนกลาง คือเยอรมัน,ออสเตรีย,สวิสเซอร์แลนด์ เพลงที่เล่นคือเพลงพื้นบ้าน ที่มีจังหวะสนุกสนานร่าเริง
นี่เป็นแอคคอเดียนแบบที่ผมเขียนถึงในตอนที่แล้วว่า เคยฝากเพื่อนให้แฟนที่เรียนอยู่ออสเตรียซื้อให้ แล้วเพื่อนบอกว่า "โคตรแพง" นั่นละครับ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกหรอกครับ เพราะของใหม่ก็เริ่มต้นที่ประมาณ 2 พันเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 8 หมื่นบาท แล้ว จ๊ากกก!!


6.Schwyzerörgeli หรือ Orgeli เป็นแอคคอเดียนแบบ Diatonic ของสวิสเซอร์แลนด์ มีขนาดเล็ก มีปุ่ม treble1-3 แถว คล้ายๆ Melodeon แต่เบสจะวางต่างออกไป คือวางเป็นระนาบเดียวกับมือ
ส่วนใหญ่ bass จะมี 2 แถว แถวละ 9 ปุ่ม เพลงที่เล่นก็จะเป็นเพลงพื้นเมืองที่สนุกสนาน


7.Cajun เจ้าคาจุนตัวนี้ เป็นแอคคอเดียนแบบ Diatonic แถวเดียวที่นิยมเล่นมากในสหรัฐฯ เนื่องจากใช้มากในเพลง Bluegrass หรือเพลงเต้นรำสไตล์คาวบอย เสียงดังมาก และเล่นด้วยจังหวะคึกคัก เมโลดี้ที่เร้าใจ คีย์ที่นิยมเล่นก็มี C,D,F,G


8.Concertina บางคนอาจจะไม่นับเจ้าตัวนี้เป็นแอคคอเิดียน แต่ผมคิดว่าน่าจะนับรวมไว้ เพราะลักษณะการทำงานมันก็แบบเดียวกันนั่นแหละ "คอนเซอติน่า" เป็นเครื่องดนตรีที่เหมือนเอาอะไรกลมๆ เท่าฝ่ามือสองอันมาประกบกัน แต่ละด้านมีปุ่มหลายปุ่มและยึดทั้งสองข้างไว้ด้วย bellows เจ้าตัวนี้แบ่งออกได้เป็นอีกมากมายหลายประเภท แต่ถ้าแบ่งแบบกลไกภายในก็แบ่งได้เป็น 2 ประเภทเหมือนกันคือ
   8.1 แบบเสียงเดียว เช่น English Conceritna
   8.2 แบบสองเสียง เช่น Anglo Concertina ประเภทนี้จะใช้เล่นเพลง Irish เป็นหลักเลย
ถ้าเขียนเรื่องนี้ก็คงจะยาวอีกละครับ ใครสนใจลองไปค้นคว้าเพิ่มเติมดูนะครับ


9.Bandonion จริงๆ เจ้าตัวนี้วิวัฒนาการมาจาก Concertina แต่ไปแพร่หลายและเป็นที่นิยมในประเทศอาร์เจนตินา ในฐานะเครื่องดนตรีหลักที่ใช้เล่นเพลงเต้นรำที่เรียกว่า Tango
Bandonion หรือ Bandoneon นี้ คือ Concertina แบบสองเสียงที่ขยายขนาดขึ้นมา แต่ละด้านมีได้มากถึง 38 ปุ่ม รวมสองข้างก็เป็น 76 ปุ่ม ดังนั้นจึงมีคีย์มากถึง 142 เสียง
มันจึงน่าจะเป็นเครื่องดนตรีที่พกพาได้ ที่มีเสียงได้มากที่สุด
คนที่เป็นปรมาจารย์แ่ห่งเครื่องดนตรีชนิดนี้คือ Astor Piazzolla ครับ


10.Organetto เ็ป็น Diatonic Accordion ซึ่งเป็นที่นิยมในอิตาลี ด้าน treble จะมี 2 แถว แถวล่างมี 9 ปุ่ม แถวบนมีสามปุ่ม ส่วน bass มี 2-4 ปุ่ม ใช้เล่นเพลงพื้นเมืองอิตาลีที่มีจังหวะคึกคักและรวดเร็วมาก


ผู้ที่สนใจในแอคคอเดียนแบบต่างๆ สามารถค้นหาได้ด้วยชื่อแต่ละประเภทนะครับ
และทุกประเภทมีตัวอย่างให้ฟังใน youtube ด้วย


เฮ่อ ! กว่าจะอธิบายจบ หมดพลังงานไปเยอะเลย
ผู้อ่านก็คงจะพลอยอ่านจนเหนื่อยไปด้วย
เดี๋ยวตอนหน้า มีเซอร์ไพรส์เล็กๆ เกีี่ยวกับแอคคอเดียนตัวที่ 2 ของผม
ซึ่งได้มาแบบไม่คาดฝัน และมันเป็น Diatonic Accordion ด้วยนะครับ !

วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ตอนที่ 2 “แอคคอเดียน” ในยุคแห่งการสื่อสาร

พออายุเกินสามสิบปีแล้ว รู้สึกว่าเวลามันเดินเร็วมากนะครับ แป๊บๆ ผ่านไปตั้งปีหนึ่ง (อันที่จริงผมเกินสามสิบมานานจนเกือบจะสีสิบอยู่แล้วล่ะ 555)
ผมไม่ได้อัพบล็อกมานานถึง 1 ปีเต็มๆ คิดว่าบล็อกคงจะร้างไปแล้ว ยอดวิวก็คงจะเรี่ยๆ อยู่สักร้อย
เข้ามาอีกทีก็แปลกใจ มีคนแวะเข้ามาอ่านตั้งเกือบสองพันครั้งเลยหรือนี่ ดีใจจัง

แอคคอเดียน เป็นเครื่องดนตรีที่มีเสน่ห์ ใครได้ยินเสียงก็ชอบ บางคนก็ต้องมนต์ของมัน 
อยากเห็นตัวเป็นๆ อยากเล่น อยากเป็นเจ้าของ 
แต่อย่างที่ผมเคยเล่าไปแล้วว่า องค์ความรู้เรื่องแอคคอเดียนในบ้านเรานั้น มีน้อยเหลือเกิน 
ตอนนี้ใครอยากจะศึกษาเรื่องเกี่ยวกับแอคคอเดียน ก็ต้องค้นหาจากเว็บไซต์ของเมืองนอกเท่านั้นละครับ
ในยุคที่เราค้นหาอะไรก็ได้ง่ายๆ แค่พิมพ์คำที่ต้องการ เลยคิดว่าบล็อกเรื่องแอคคอเดียน ของผม ก็คงจะได้ไปโผล่ในหน้าใดหน้าหนึ่งของการค้นหาบ้าง ก็ทำให้คนแวะมาอ่านกันเยอะขึ้น 
รวมทั้งที่มาจากลิงค์ของเพื่อนบ้านอย่างเช่น ของลุงน้ำชา (น่าจะเยอะ)
ดีใจครับ ดีใจ

จากสองตอนแรกที่อารัมภบทเรื่องแอคคอเดียนไปแล้ว
มาตอนนี้ขอตัดชับๆๆ เข้าเรื่องแอคคอเดียนที่ผมได้มา 
คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่กำลังคิดจะซื้อแอคคอเดียนตัวแรก

ความอยากได้แอคคอเดียนของผมมันรุมๆ สุมอยู่ในอกเป็นเวลานานหลายปี 
แต่ยังไม่รู้จะมีช่องทางไหนจะให้ได้มา
สมัยเรียนจบทำงานใหม่ๆ พอจะมีเงินเก็บอยู่บ้าง มีเพื่อนคนหนึ่ง แฟนของเขาไปเรียนต่อที่ประเทศออสเตรีย ผมขอให้เพื่อนช่วยบอกแฟนให้ช่วยหาซื้อแอคคอเดียนราคาถูกๆ พอใช้งานได้มาให้ผมสักตัว เพื่อนก็รับปาก
ผ่านไปนานหลายเดือน เพื่อนมาบอกผมว่า แฟนเขาไปดูให้แล้วล่ะ 
"เออ แล้วเป็นไง ราคาสักเท่าไร ?" 
“มึงเลิกคิดเถอะ เรื่องแอคคอเดียนน่ะ”
“ทำไมวะ ?” ผมงง
“แม่ง...แพงชิบหาย” เพื่อนพูดแค่นั้น แล้วก็ไม่พูดอะไรต่อ ก็เป็นอันรู้กันว่า ราคามันแพงมากจริงๆ
ตอนนั้นผมยังไม่รู้เรื่องแอคคอเดียนเท่าไร ก็ได้แต่ปลง และเชื่อตามเพื่อนว่า มันแพงมากจริงๆ
แต่หลังจากนั้น เมื่อศึกษาเรื่องแอคคอเดียนมากขึ้นแล้ว ผมก็เข้าใจ ถึงกับพอจะเดาได้ว่า แอคคอเดียนที่เพื่อนว่าแพงนั้น เป็นแอคคอเดียนประเภทไหน

เวลาผ่านไปนานอีกหลายปี
ประมาณปลายปี 2553 ผมก็ตัดสินใจว่า ผมควรจะซื้อแอคคอเดียนมาหัดเล่นเสียที
เย็นวันหนึ่งหลังเลิกงาน ผมก็ไปที่ร้านขายเครื่องดนตรีในห้างสรรพสินค้าใกล้บ้าน ขอลองแอคคอเดียนสักตัวหนึ่ง 
เป็นแอคคอเดียนจีนแดงยี่ห้อ Golden Cup ขนาด 32 bass ราคา 9 พันกว่าบาท พนักงานหยิบมาให้และถามว่า
“พี่จะเอาไปเล่นเพลงลูกทุ่งหรือครับ ?” (ฮา)
ความรู้สึกหลังจากที่ได้ลองประมาณยี่สิบนาที รู้สึกไม่ประทับใจเลย ทั้งเสียง ทั้งราคา
เลยคิดว่า เอาไว้ก่อนดีกว่า อย่างไรเสีย แอคคอเดียนพวกนี้ก็หาได้ตามร้านทั่วไปอยู่แล้ว
พอกลับมาบ้าน ผมมานั่งคิดๆ ดู ก็ตัดสินใจว่า
“เราลองมาเสี่ยงซื้อของจากเว็บเมืองนอกดีกว่า”
ผมถือคติว่า ชีวิตคนมันต้องผจญภัยกันหน่อยละครับ มันถึงจะมัน

บางท่านที่เคยสั่งซื้อของจากเว็บน่าจะรู้จัก ebay.com เป็นอย่างดี เพราะเป็นเว็บขายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นห้างสรรพสินค้าออนไลน์ ที่มีของแทบจะทุกอย่าง ทั้งมือหนึ่ง มือสอง ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ(เครื่องบินยังมีขายเลยนะ !) แค่เข้าเว็บแล้วค้นหาด้วยคำว่า accordion ก็จะมีแอคคอเดียนมากมายหลายสิบยี่ห้อ หลายสิบรูปแบบ ปรากฏขึ้นมาให้เลือกดู

แต่แอคคอเดียนที่จะส่งมาเมืองไทยได้นั้น มีอยู่ไม่มากเลย แถมค่าส่งก็ไม่ธรรมดาเสียด้วย ส่วนใหญ่อยู่ในราวร้อยดอลลาร์ ก็ประมาณสามพันกว่าบาท(ค่าเงินในตอนนั้น) ผมใช้เวลารอสินค้าประเภท “ราคาถูก สภาพดี และส่งมาเมืองไทย” อยู่นานเหมือนกัน กว่าจะมีแอคคอเดียนที่ราคาไม่แพง และคนขายส่งมาเมืองไทยโผล่มา โดยเจ้าแอคคอเดียนตัวนี้ เป็นการขายแบบประมูล และเริ่มต้นที่ 0.99 ดอลลาร์ !
แต่จะให้ประมูลเองก็ทำไม่เป็นหรอกครับ ขั้นตอนมันค่อนข้างจะเยอะอยู่ 
ในการติดต่อเพื่อประมูล ผมก็ใช้บริการของเว็บไซต์ที่ให้บริการด้านนี้โดยเฉพาะ

เมื่อโอนเงินให้เขาไปจัดการแล้ว ผมก็รอ รอ รอ เมื่อหมดเวลาประมูลแล้วปรากฏว่าไม่มีใครประมูลแข่ง 
ผมก็ได้เป็นเจ้าของแอคคอเดียนตัวนี้ในราคาแสนถูก(น่าจะ 1.99 เหรียญ) แต่เมื่อบวกกับค่าขนส่ง และค่าบริการของเว็บสั่งซื้อแล้ว ก็ตกราวๆ สี่พันกว่าบาท
ผู้ขายแอคคอเดียนตัวนี้ เขาอยู่ที่ประเทศ “เอสโตเนีย” นู่น คือเป็นประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต มีที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือ ใกล้ๆ กับประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย มันเดินทางมาไกลจริงๆ

ผมคาดว่า ผมน่าจะได้แอคคอเดียนภายในหนึ่งเดือนหลังจากสั่งซื้อ 
แต่ก็ผ่านไปตั้งสามเดือนกว่าๆ  หลังจากการสั่งซื้อ มันนานเสียจนผมคิดว่า “เสียรู้ฝรั่งแน่แล้ว”
แต่เมื่อให้ทางเว็บไซต์เขาช่วยสอบถามผู้ขายให้ ก็ได้รับคำตอบว่า
“ผู้ขายบอกว่า ส่งมาทางเรือ เพราะถ้าส่งมาทางเครื่องบิน ค่าส่งจะแพงมาก ใจเย็นๆ มาถึงแน่นอน”
จำได้ว่า ช่วงนั้น ผมเอาเลขรหัสไปเช็คกับไปรษณีย์แทบจะทุกวันว่าของมาถึงหรือยัง 
จนกระทั่งสี่เดือนผ่านไปก็เริ่มจะปลง คิดว่า ถ้ามันมาถึงก็คงจะรู้เองแหละ
เช้าวันหนึ่ง ผมมาถึงออฟฟิศ กลับปรากฏว่ามีพัสดุห่อเบ้อเริ่มมารออยู่แล้ว
พอเปิดออกมาก็เป็นเจ้าแอคคอเดียนตัวที่ปรากฏในรูปนี้เอง
มันเป็นแอคคอเดียนสีน้ำตาล ชื่อยี่ห้อภาษารัสเซีย ไม่ทราบอ่านว่าอย่างไร ขนาด 80 bass 2 switch
34 treble 5 switch น้ำหนักประมาณ 8 กิโลกรัม ถ้ารวมเคสก็ประมาณ 10 กิโลกรัม
จำได้ว่า ตอนเอากลับบ้าน ต้องหิ้วแขนแทบหลุด เนื่องจากเป็นปลายเดือนแล้ว ไม่มีค่า taxi (ฮา)

 ถ้าเป็นสมัยก่อน การสั่งซื้อของจากเมืองนอกโดยใครสักคนที่ไม่ใช่บริษัท และไม่มีเงินมากมาย คงเป็นเรื่องใหญ่ 
วุ่นวาย ซับซ้อน และใช้เวลานาน คนซื้ออาจจะท้อเอาง่ายๆ เสียด้วย 
แต่ในยุคแห่งการสื่อสาร การซื้อขายแบบนี้มันก็สะดวกง่ายดายขึ้น

แม้ว่า เจ้าแอคคอเดียนที่ผมสั่งซื้อ จะไม่ได้มีสภาพดีสมกับที่คนขายโฆษณาไว้ 
สภาพจริงคือค่อนข้างเก่า ต้องซ่อมแซมเพิ่มอีกหลายจุด แต่ผมได้คิดเอาไว้แล้วว่า 
แอคคอเดียนตัวแรกนี้ คือตัวที่ผมจะเอามาฝึกซ้อม เพื่อให้ผมได้รู้จักมันเสียก่อน 
ผมซื้อมาเพื่อศึกษาเรียนรู้ หลังจากนั้น ถ้าพร้อมแล้ว จะซื้อแบบแพงหน่อยแต่ดี ก็ค่อยว่ากัน 
ที่สำคัญ ผมพอใจกับมันมากกว่าแอคคอเดียนตัวแรกที่ผมไปลองในห้างสรรพสินค้าเสียอีก

แต่เรื่องอย่างนี้ก็แล้วแต่นะครับ บางคนอยากจะลองเครื่องดนตรีก่อน ไม่อยากจะรอนาน 
ก็ตัดสินใจซื้อแอคคอเดียนจีนที่มีขายทั่วไป ก็อยู่ที่ความต้องการของแต่ละคนละครับ

ที่มาของแอคคอเดียนของแต่ละคน คงจะต่างกันไป ถ้ามีทุนพอสมควร แนะนำให้ซื้อ “ของใหม่” ไปเลยครับ ดีที่สุด สบายใจ ได้ของดีมีคุณภาพใช้ได้นาน (แต่บางคนไปซื้อแอคคอเดียนจีนที่ร้านเก็บไว้นานจนสภาพไม่ดี ก็แย่เหมือนกัน)
แต่สำหรับคนงบน้อยอย่างผมและหลายๆ ท่าน ที่อยากได้ของดีมีคุณภาพ แต่ราคาไม่แพง 
ผมคิดว่า จำเป็นที่จะต้องศึกษาให้เยอะ คิดให้เยอะ วางแผนให้ดี และต้องกล้าที่จะลองเสี่ยงดู

เงียบหายไปร่วมปี เพราะคลื่นลมชีวิตไม่ปกติเท่าไร 
ปี 2555 เป็นอีกปีหนึ่งที่ชีวิตผมผันผวนมาก
เรื่องแอคคอเดียนก็ไม่ได้ซ้อมเพลงใหม่ๆ เลย
แต่ตอนนี้ ชีวิตลงตัวมากขึ้น เป็นอิสระจากงานประจำ เพราะเป็น "นักเขียนอิสระ" (ฮา) 
ก็ตั้งใจจะมาเขียนบล็อกต่อแล้วครับ
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่าน และทุกคำถาม เท่าที่ผมจะสามารถตอบได้

สำหรับตอนหน้า ผมจะเขียนเรื่อง “ประเภทของแอคคอเดียน”ครับ

วันอาทิตย์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555

ตอนที่ 1 เสียงแอคคอเดียนในความคุ้นเคย

หากให้ลองย้อน ก็คงยากที่จะคิดออกว่า ครั้งแรกที่ผมได้ยินเสียงแอคคอเดียนนั้น คือเมื่อไร
แต่ให้เดากว้างๆ ก็น่าจะมาจากเพลงลูกทุ่งเก่าๆ ซึ่งอาจจะเป็น ก้าน แก้วสุพรรณ ,สุรพล สมบัติเจริญ ,ทูล ทองใจ หรืออาจจะในเพลงลูกทุ่งยุคถัดมาอย่าง สายัณห์ สัญญา ก็เป็นได้
ผมคิดว่า ประสบการณ์นี้ก็ไม่น่าจะต่างจากคนในรุ่นเดียวกันสักเท่าไร
แอคคอเดียน เป็นเครื่องดนตรีที่นิยมใช้เพลงลูกทุ่งในช่วงเวลาก่อนพุทธศักราช 2500 ถึงแม้จะมีใช้ในเพลงลูกกรุงอยู่ไม่น้อย แต่สำหรับคนต่างจังหวัด อันเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ก็มักจะจดจำเสียงแอคคอเดียนจากเพลงลูกทุ่งได้ดีกว่า
จนกระทั่งในยุคต่อมา เราได้ยินเสียงแอคคอเดียนจากเพลงชนิดอื่นเพิ่มขึ้นอีก นั่นคือ เพลงเพื่อชีวิต
ที่เห็นได้ชัดๆ เลยก็คือ “มาลีฮวนน่า” ซึ่งภาคดนตรีมีความโดดเด่นด้วยเสียงแอคคอเดียนกับกีตาร์โปร่งมาตั้งแต่ชุดแรกแล้ว
กระนั้นก็ตาม เสียงแอคคอเดียนในความทรงจำของพวกเรา-ซึ่งผมหมายถึงคนไทยส่วนใหญ่ ก็อยู่ในความคุ้นชินแบบเดิมเท่านั้น เราแทบจะไม่ได้ฟังเสียงแอคคอเดียนที่แตกต่างออกไปเลย

จริงๆ แล้วในอดีตที่ผ่านมา มีเพลงสากลบางเพลงที่มีเสียงแอคคอเดียนที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักของคนไทย เช่น “ลัมบาด้า”(Lumbada หรือ Llorando Se Fue) และมีการใช้แอคคอเดียนในดนตรีบางประเภท เช่น ดนตรีร็องเง็งของทางภาคใต้ ซึ่งก็มักจะไม่คุ้นหูคนไทยในวงกว้างนัก

 

แอคคอเดียนเป็นเครื่องดนตรีที่ใกล้ชิดกับสังคมไทยมานานกว่า 50 ปี แต่ในอีกแง่หนึ่งแอคคอเดียนก็เป็นเครื่องดนตรีที่อยู่ห่างจากความเข้าใจของคนทั่วไปด้วย

ยกตัวอย่างง่ายๆ เครื่องดนตรีไทยอย่าง ขิม จะเข้ ระนาด แม้จะมีคนเรียน คนเล่น ไม่มากนัก แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังรู้จัก ยังมีองค์ความรู้ให้ศึกษากันได้ หรือ เครื่องดนตรีพื้นบ้าน อย่าง สะล้อ ปี่จุม พิณเปี๊ยะ หรือพิณอีสาน ก็ยังมีคนเล่น มีคนรู้จัก มีคนสอน มีคนเรียน แต่สำหรับ แอคคอเดียน นี่ เกือบจะเรียกได้ว่า หาคนเล่นเป็นยากนักหนา จะหาฟังคนเล่นสดๆ ก็คงต้องไปรอดูตามคอนเสิร์ตเวทีไท หรือเวลามีงานคอนเสิร์ตลูกทุ่งที่เฉลิมกรุง เท่านั้น

 

ดังนั้น แม้จะใกล้ชิดกับเสียงของมันขนาดนี้ แต่ “องค์ความรู้เกี่ยวกับแอคคอเดียน”ในบ้านเรา มีน้อยเหลือเกิน

หากใครหลงรักเจ้าเครื่องดนตรีชิ้นนี้ จนไปซื้อหามาไว้ในครอบครอง(ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของผลิตจากจีน) จะเหลียวหาใครสอนก็ไม่ได้ หาหนังสือมาหัดก็แทบจะไม่มี ส่วนใหญ่ จึงไม่พ้นต้องหัดเล่นเอง และก็ไม่พ้นจะเล่นได้เพียงข้างเดียว ทั้งที่จริงๆ แล้ว แอคคอเดียนจะแสดงศักยภาพของมันได้สูงสุด เมื่อเล่นทั้งสองข้าง

 

ในแง่ความคุ้นเคย ผมเองก็ไม่ต่างจากคนทั่วไปที่เคยได้ยินเสียงแอคคอเดียนในฐานะเครื่องดนตรีประกอบเท่านั้น แต่แล้วเมื่อโลกเดินเข้าสู่ยุค WWW ข้อมูลข่าวสารถ่ายเทถึงกันได้ ผมได้มีโอกาสดูคลิปๆ หนึ่ง จากการค้นหาเพลงที่อยากฟังใน youtube เพลงนี้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Amelie(2001) ภาพยนตร์จากฝรั่งเศสที่ดังไปทั่วโลก ผมได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้และชอบเพลงประกอบมาก อยากจะหาโหลดมาเก็บไว้ฟัง ค้นไปค้นมาก็มาเจอคลิปนี้เข้า นั่นคือคลิปของคุณ Dave Thomas ที่เล่นเพลง La Valse d’ Amelie ด้วยแอคคอเดียนตัวเดียว

 

นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นว่า แอคคอเดียนเพียงตัวเดียว สามารถทำอะไรได้บ้าง และมันก็เปลี่ยนการรับรู้ของผมที่มีต่อแอคคอเดียนไปทั้งหมด