จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

ตอนที่ 3 ประเภทของแอคคอเดียน

ช่วงเริ่มต้นศึกษาเรื่องแอคคอเดียน
ผมได้พบกับความน่าตื่นตาตื่นใจอย่างหนึ่งคือ
แอคคอเดียนเป็นเครื่องดนตรีที่มีความหลากหลายมาก
ทั้งประเภท ทั้งรูปร่าง ทั้งเสียง ยังไม่นับบทเพลงที่แตกต่างหลากหลาย
ไปตามวัฒนธรรมของแต่ละ้ท้องถิ่น
เฉพาะเพลงพื้นบ้านของฝรั่งเศสที่ใช้แอคคอเดียนบรรเลง
เท่าที่ผมพอจะพบเจอในอินเตอร์เน็ตก็น่าจะหลายพันเพลงแล้ว
ยังไม่นับที่ไม่ได้เผยแพร่อีก
แล้วของประเทศอื่นๆ อีกตั้งเท่าไร

เรียกว่า ถ้าคุณหันมาศึกษาและเล่นแอคคอเดียนแล้ว
ทั้ง Hardware(แอคคอเดียน) และ Software(เพลง หรือ tune )
มีให้เล่นให้ลองของแปลกๆ ใหม่ๆ ไม่ซ้ำได้ตลอดชีวิตเลยละ

มาตามสัญญาที่บอกไว้เมื่อตอนที่แล้วว่าผมจะเขียนเรื่องประเภทของแอคคอเดียน
ซึ่งก็ต้องออกตัวก่อนว่า นี่เขียนตามที่ผมค้นคว้ามาเท่านั้น ยังไม่ใช่ที่สุด
ต่อไปในภายหน้า อาจจะมีข้อมูลใหม่ๆ มาเพิ่มเติมอีก

แอคคอเดียนเป็นเครื่องดนตรีประเภท "ลิ่มนิ้ว" คือใช้นิ้วกด ควบคุมการเปิดปิด
ของลมที่ผ่าน "ลิ้นทองเหลือง"(reeds) ให้เกิดเสียงตามที่ต้องการ
ฉะนั้น ในการแบ่งประเภทของแอคคอเดียนด้วยระบบ "ภายใน"
จึงได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1.แบบเสียงเดียว (Chromatic) เป็นแอคคอเดียนแบบที่แพร่หลายที่สุดนิยมเล่นทั่วโลก โดยเฉพาะ "เปียนโนแอคคอเดียน" หรือแอคคอเดียนที่มีลิ่มนิ้วแบบเปียนโน ที่เราๆ ท่านๆ รู้จักและคุ้นเคย ก็คือ
แบบเสียงเดียวนี่แหละครับ แอคคอเดียนแบบนี้ ส่วนใหญ่จะมีคีย์ครบทั้งเต็มเสียง ทั้งครึ่งเสียง มีน้ำหนักมาก
ที่ได้ชื่อว่าเป็นแบบเสียงเดียว เพราะเมื่อเรากดปุ่ม ไม่ว่าเราจะชักแอคคอเดียนเข้าหรือออก มันก็จะได้เสียงเพียงเสียงเดียว เพราะลิ้นทองเหลืองหันไปด้านเดียวกัน
ยังมีอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า button accordion หรือบางทีก็เรียกว่า chromatic accordion ซึ่งแทนที่จะเป็นลิ่มนิ้วแบบเปียนโน แต่จะเป็นปุ่มกดแทน แบบนี้จะเป็นที่นิยมมากในยุโรป เหมาะสำหรับเล่นเพลงที่ซับซ้อน เช่น เพลงคลาสสิก ซึ่งในแบบเสียงเดียวนี้ ยังแบ่งออกตามการวางปุ่มเบสอีก 3 แบบ กล่าวคือ
   
      1.1 การวางปุ่มเบสแบบ Stradella Bass เป็นการวางแบบทั่วไปที่นิยมใช้กันมากที่สุด คือวางเรียงเป็นแถว โดยแถวตามแนวนอนจะเป็นเสียงประเภทเดียวกัน ไล่จากข้างบนลงมาคือ major 3rd note,root note,
major chord , minor chord , dominant seventh chord และ diminshed seventh chord (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Stradella_bass_system )
      1.2 การวางปุ่มเบสแบบ Bayan เป็นการวางเบสของแอคคอเดียนที่นิยมในรัสเซีย มีการวางที่แตกต่างจาก Stradella Bass มาก เรียกว่า ถ้ามาหัดเบสแบบนี้ ก็ต้องเรียนรู้กันอีกรอบ (เบสแบบนี้เหมาะกับเพลงรัสเซียซึ่งมีไมเนอร์และครึ่งเสียง เอาไปเล่นเพลงแบบอื่นๆ น่าจะยาก)
      1.3 การวางปุ่มเบสแบบ Free Bass เป็นการวางเบสที่พัฒนาขึ้นมา เพื่อให้ผู้เล่นในระดับสูง สามารถเล่นเบสเป็นเมโลดี้ได้ นักดนตรีแอคคอเดียนระดับมืออาชีพ เล่นเพลงคลาสสิกจะใช้แอคคอเดียนประเภทนี้


2.แบบสองเสียง (Diatonic) เป็นแอคคอเีดียนที่นิยมเล่นในแถบยุโรป และอเมริกาใต้ แบบนี้เราไม่ค่อยคุ้นเคย เพราะใช้เล่นเพลง tradition หรือเพลงพื้นบ้านเป็นหลัก ที่ได้ชื่อว่าเป็นแบบสองเสียง เพราะว่าเื่มื่อเรากดปุ่ม ชักออกจะเป็นเสียงหนึ่ง พอดันเข้าก็จะเป็นอีกเสียงหนึ่ง เช่นเดียวกับปุ่มเบส ก็จะเป็นสองเสียงเช่นกัน
แอคคอเดียนแบบนี้จะมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา แต่การหัดเล่นก็ไม่ง่ายนะ เพราะเข้าเสียงหนึ่ง ออกอีกเสียงหนึ่ง

3.นอกจากทั้งสองแบบดังกล่าวแล้วยังมีแบบที่เรียกว่า "ลูกผสม"(Hybrid) คือฝั่ง treble จะเป็น diatonic แต่ฝั่ง bass จะเป็น stradella bass เช่นแบบที่เรียกว่า British Chromatic System


ถ้าแบ่งด้วยระบบภายในก็จะได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ นี่ละครับ แต่ถ้าแบ่งด้วยลักษณะภายนอก จะได้มากมายหลายประเภท บางอย่างก็มีรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีก เอาเท่าที่ผมทราบ และพอจะรวบรวมมาได้ ก็มีดังนี้ครับ

1. Piano Accordion แบบนี้เรารู้จักกันดีที่สุดดังที่กล่าวมาแล้ว แบบมาตรฐานมีตั้งแต่ 12 เบส ไปจนถึง 120 เบส (ระดับสูงกว่านั้นเป็นแบบพิเศษคือ 160 เบส และ 180 เบส) ส่วนลิ่มนิ้วมีตั้งแต่ 25 ไปจนถึง 41 และมี register (สวิทช์เปลี่ยนเสียง) ได้ต้ังแต่ 1 ถึง 15 ปุุ่ม (ถ้าเป็น แอคคอเดียนไฟฟ้า เช่นของ Roland ก็สามารถปรับเสียงได้มากกว่านี้) ขนาดและน้ำหนักก็ใหญ่ไปตามจำนวนเบส
เปียนโนแอคคอเดียน มีมากมายนับสิบนับร้อยแบรนด์ ถ้าเป็นแบรนด์ระดับโลก ราคาตัวละเป็นแสนบาทขึ้นไป ก็มักจะมาจากอิตาลี่ เช่น แบรนด์ Titano , Petosa , Scandali ,La Tosca ฯลฯ
และแบรนด์แถบสแกนดิเนเวีย ซึ่งนิยม button accordion ก็จะมีแบรนด์ดังเช่น Lasse Pihlajamaa และ Kouvola Casotto
ส่วนแบรนด์เยอรมัน อาจจะไม่ได้เน้นหรูหราอลังการขนาดนั้น แต่จะเป็นที่รู้จักมากกว่าคือ Hohner ที่คนไทยคุ้นเคยที่สุด และอีกแบรนด์คือ Welmeister
แบรนด์อเมริกามีเยอะครับ แต่มักจะเป็นแบรนด์ใหม่ ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก
แอคคอเดียนจีนที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น Golden Cup ,Ying Jee และ Landwin แม้ราคาจะถูกกว่า แต่คุณภาพก็ต่ำกว่า อายุการใช้งานไม่นาน
ส่วนแอคคอเดียนรัสเซียซึ่งวางเบสแบบ Bayan นั้น ก็เป็นที่นิยมเล่นเฉพาะในรัสเซียและเยอรมันเท่านั้น เพราะเอาเป็นเล่นเพลงแบบอื่นคงลำบาก
ลองเข้าไปดูที่ www.libertybellows.com ซึ่งเป็นร้านขายแอคคอเดียน จะมีตัวอย่างเปียนโนแอคคอเดียน
หลายๆ แบบให้เราดู


2.Diatonic Accordion เนื่องจากแอคคอเดียนประเภทนี้ จะมีลักษณะเ็ป็นกล่อง ขนาดพอๆ กับกล่องใส่รองเท้า และมีปุ่มติดอยู่สองข้าง (treble กับ bass) บางทีจึงเรียกว่า "ฺีButton Box" ในอังกฤษและฝรั่งเศสจะเรียกว่า Melodeon (คนละอย่างกับเมโลเดียนที่เป็นเครื่องเป่าในวงโยธวาทิตแต่ชื่อเหมือนกัน) ส่วนเยอรมันเรียกว่า Knoffakkordeon เนื่องจากแอคคอเดียนประเภทนี้ จะไม่มีเสียงครบเหมือนพวก chromatic กล่าวคือ จะมีครึ่งเสียงแค่บางเสียงเท่านั้น และการวางปุ่ม treble มักจะวางตามคีย์เสียงและจะเรียกคีย์ตามการวาง โดยนับจากแถวล่างขึ้นไป เ่ช่น GC ,AD ,CF ,CGF ,ADG ฯลฯ
แบรนด์ที่เป็นที่รู้จักในแอคคอเดียนแบบนี้ ก็ได้แก่ Hohner ,Welmeister ,Saltarell ,Castagnari และ Bertrand Guillard โดยเฉพาะ Castagnari เป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมมาก ตั้งแต่มือสมัครเล่น(ทีมีงบฯ เยอะหน่อย) ไปจนถึงมืออาชีพ ส่วน Hohner จะเป็นแบรนด์ยอดนิยมสำหรับผู้เริ่มต้น
แต่ถ้าแถบอเมริกากลางไปจนถึงอเมริกาใต้ที่นิยมเล่นเพลงสไตล์ที่เรียกว่า Tex-Mex หรือ Bluegrass
แบรนด์ Horner รับประทานเรียบนะครับ

3.Garmoshka หรือ Garmonica หรือ Garmon เป็นเครื่องแอคคอเดียนรัสเซีย หน้าตาคล้ายๆ Diatonic Accordion แต่ไม่ใช่นะครับ แค่คล้ายๆ เท่านั้น เพราะเจ้านี้จริงๆ แล้วเป็น Chromatic Accordion คือมีเสียงเดียว มีด้าน treble 25 ปุ่ม และด้าน bass 25 ปุ่ม นิยมเล่นมากในรัสเซียและประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของรัสเีซีย เจ้าตัวนี้เป็นส่วนสำคัญของดนตรีพื้นบ้านรัสเซียเลยครับ แทบจะขาดไม่ได้เลย นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ของรัสเซียก็หันมานิยมเล่นกันไม่น้อยเหมือนกัน
เจ้า Garmon นี่มีอยู่หลายยี่ห้อเหมือนกันครับ เช่น Tula, Khromka,Vyatka,Livenka และมีให้ลองฟังเสียงได้ใน youtube เยอะแยะเลยครับ
(เพลงรัสเซียมีเสน่ห์แบบประหลาดๆ อยู่ ผมหวังว่า สักวันจะได้เป็นเจ้าของ Garmon สักตัว)


4.Saratovskaya garmonika จริงๆ มันเป็นแอคคอเดียนรัสเซียแบรนด์หนึ่ง ซึ่งเพิ่งจะได้รับการฟื้นฟูโรงงาน และเริ่มต้นผลิตใหม่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่มันเป็น Diatonic ครับ ไม่ใช่ Chromatic และผมเห็นว่ามันน่าจะแยกออกมา เพราะความพิเศษของมัน มันมีเอกลักษณ์ที่น่าัรักมากๆ อย่างหนึ่งที่ไม่มีแอคคอเดียนใดๆ ในโลกจะมี นั่นคือ "กระดิ่ง"ที่เหมือนกระดิ่งจักรยาน 2 อันที่ติดอยู่ด้านเบส ดังนั้นนอกจากเสียงเพลงทั่วไปแล้ว เจ้านี้ยังผลิตเสียงกระดิ่งไปพร้อมๆ กันได้ด้วย ให้ตายเถอะโรบิน มันเท่ห์จริงๆ นะ!


5.Steirishe Harmonik เป็นแอคคอเดียนแบบ Diatonic ที่ขนาดไม่เล็กเพราะ treble จะมีตั้งแต่ 3 แถวขึ้นไป และเสียงก็ดังกระหึ่ม เพราะใช้เบสแบบเฉพาะที่เรียกว่า Helikon Bass แอคคอเดียนแบบนี้ นิยมมากในยุโรปตอนกลาง คือเยอรมัน,ออสเตรีย,สวิสเซอร์แลนด์ เพลงที่เล่นคือเพลงพื้นบ้าน ที่มีจังหวะสนุกสนานร่าเริง
นี่เป็นแอคคอเดียนแบบที่ผมเขียนถึงในตอนที่แล้วว่า เคยฝากเพื่อนให้แฟนที่เรียนอยู่ออสเตรียซื้อให้ แล้วเพื่อนบอกว่า "โคตรแพง" นั่นละครับ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกหรอกครับ เพราะของใหม่ก็เริ่มต้นที่ประมาณ 2 พันเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 8 หมื่นบาท แล้ว จ๊ากกก!!


6.Schwyzerörgeli หรือ Orgeli เป็นแอคคอเดียนแบบ Diatonic ของสวิสเซอร์แลนด์ มีขนาดเล็ก มีปุ่ม treble1-3 แถว คล้ายๆ Melodeon แต่เบสจะวางต่างออกไป คือวางเป็นระนาบเดียวกับมือ
ส่วนใหญ่ bass จะมี 2 แถว แถวละ 9 ปุ่ม เพลงที่เล่นก็จะเป็นเพลงพื้นเมืองที่สนุกสนาน


7.Cajun เจ้าคาจุนตัวนี้ เป็นแอคคอเดียนแบบ Diatonic แถวเดียวที่นิยมเล่นมากในสหรัฐฯ เนื่องจากใช้มากในเพลง Bluegrass หรือเพลงเต้นรำสไตล์คาวบอย เสียงดังมาก และเล่นด้วยจังหวะคึกคัก เมโลดี้ที่เร้าใจ คีย์ที่นิยมเล่นก็มี C,D,F,G


8.Concertina บางคนอาจจะไม่นับเจ้าตัวนี้เป็นแอคคอเิดียน แต่ผมคิดว่าน่าจะนับรวมไว้ เพราะลักษณะการทำงานมันก็แบบเดียวกันนั่นแหละ "คอนเซอติน่า" เป็นเครื่องดนตรีที่เหมือนเอาอะไรกลมๆ เท่าฝ่ามือสองอันมาประกบกัน แต่ละด้านมีปุ่มหลายปุ่มและยึดทั้งสองข้างไว้ด้วย bellows เจ้าตัวนี้แบ่งออกได้เป็นอีกมากมายหลายประเภท แต่ถ้าแบ่งแบบกลไกภายในก็แบ่งได้เป็น 2 ประเภทเหมือนกันคือ
   8.1 แบบเสียงเดียว เช่น English Conceritna
   8.2 แบบสองเสียง เช่น Anglo Concertina ประเภทนี้จะใช้เล่นเพลง Irish เป็นหลักเลย
ถ้าเขียนเรื่องนี้ก็คงจะยาวอีกละครับ ใครสนใจลองไปค้นคว้าเพิ่มเติมดูนะครับ


9.Bandonion จริงๆ เจ้าตัวนี้วิวัฒนาการมาจาก Concertina แต่ไปแพร่หลายและเป็นที่นิยมในประเทศอาร์เจนตินา ในฐานะเครื่องดนตรีหลักที่ใช้เล่นเพลงเต้นรำที่เรียกว่า Tango
Bandonion หรือ Bandoneon นี้ คือ Concertina แบบสองเสียงที่ขยายขนาดขึ้นมา แต่ละด้านมีได้มากถึง 38 ปุ่ม รวมสองข้างก็เป็น 76 ปุ่ม ดังนั้นจึงมีคีย์มากถึง 142 เสียง
มันจึงน่าจะเป็นเครื่องดนตรีที่พกพาได้ ที่มีเสียงได้มากที่สุด
คนที่เป็นปรมาจารย์แ่ห่งเครื่องดนตรีชนิดนี้คือ Astor Piazzolla ครับ


10.Organetto เ็ป็น Diatonic Accordion ซึ่งเป็นที่นิยมในอิตาลี ด้าน treble จะมี 2 แถว แถวล่างมี 9 ปุ่ม แถวบนมีสามปุ่ม ส่วน bass มี 2-4 ปุ่ม ใช้เล่นเพลงพื้นเมืองอิตาลีที่มีจังหวะคึกคักและรวดเร็วมาก


ผู้ที่สนใจในแอคคอเดียนแบบต่างๆ สามารถค้นหาได้ด้วยชื่อแต่ละประเภทนะครับ
และทุกประเภทมีตัวอย่างให้ฟังใน youtube ด้วย


เฮ่อ ! กว่าจะอธิบายจบ หมดพลังงานไปเยอะเลย
ผู้อ่านก็คงจะพลอยอ่านจนเหนื่อยไปด้วย
เดี๋ยวตอนหน้า มีเซอร์ไพรส์เล็กๆ เกีี่ยวกับแอคคอเดียนตัวที่ 2 ของผม
ซึ่งได้มาแบบไม่คาดฝัน และมันเป็น Diatonic Accordion ด้วยนะครับ !