จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอาทิตย์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555

ตอนที่ 1 เสียงแอคคอเดียนในความคุ้นเคย

หากให้ลองย้อน ก็คงยากที่จะคิดออกว่า ครั้งแรกที่ผมได้ยินเสียงแอคคอเดียนนั้น คือเมื่อไร
แต่ให้เดากว้างๆ ก็น่าจะมาจากเพลงลูกทุ่งเก่าๆ ซึ่งอาจจะเป็น ก้าน แก้วสุพรรณ ,สุรพล สมบัติเจริญ ,ทูล ทองใจ หรืออาจจะในเพลงลูกทุ่งยุคถัดมาอย่าง สายัณห์ สัญญา ก็เป็นได้
ผมคิดว่า ประสบการณ์นี้ก็ไม่น่าจะต่างจากคนในรุ่นเดียวกันสักเท่าไร
แอคคอเดียน เป็นเครื่องดนตรีที่นิยมใช้เพลงลูกทุ่งในช่วงเวลาก่อนพุทธศักราช 2500 ถึงแม้จะมีใช้ในเพลงลูกกรุงอยู่ไม่น้อย แต่สำหรับคนต่างจังหวัด อันเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ก็มักจะจดจำเสียงแอคคอเดียนจากเพลงลูกทุ่งได้ดีกว่า
จนกระทั่งในยุคต่อมา เราได้ยินเสียงแอคคอเดียนจากเพลงชนิดอื่นเพิ่มขึ้นอีก นั่นคือ เพลงเพื่อชีวิต
ที่เห็นได้ชัดๆ เลยก็คือ “มาลีฮวนน่า” ซึ่งภาคดนตรีมีความโดดเด่นด้วยเสียงแอคคอเดียนกับกีตาร์โปร่งมาตั้งแต่ชุดแรกแล้ว
กระนั้นก็ตาม เสียงแอคคอเดียนในความทรงจำของพวกเรา-ซึ่งผมหมายถึงคนไทยส่วนใหญ่ ก็อยู่ในความคุ้นชินแบบเดิมเท่านั้น เราแทบจะไม่ได้ฟังเสียงแอคคอเดียนที่แตกต่างออกไปเลย

จริงๆ แล้วในอดีตที่ผ่านมา มีเพลงสากลบางเพลงที่มีเสียงแอคคอเดียนที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักของคนไทย เช่น “ลัมบาด้า”(Lumbada หรือ Llorando Se Fue) และมีการใช้แอคคอเดียนในดนตรีบางประเภท เช่น ดนตรีร็องเง็งของทางภาคใต้ ซึ่งก็มักจะไม่คุ้นหูคนไทยในวงกว้างนัก

 

แอคคอเดียนเป็นเครื่องดนตรีที่ใกล้ชิดกับสังคมไทยมานานกว่า 50 ปี แต่ในอีกแง่หนึ่งแอคคอเดียนก็เป็นเครื่องดนตรีที่อยู่ห่างจากความเข้าใจของคนทั่วไปด้วย

ยกตัวอย่างง่ายๆ เครื่องดนตรีไทยอย่าง ขิม จะเข้ ระนาด แม้จะมีคนเรียน คนเล่น ไม่มากนัก แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังรู้จัก ยังมีองค์ความรู้ให้ศึกษากันได้ หรือ เครื่องดนตรีพื้นบ้าน อย่าง สะล้อ ปี่จุม พิณเปี๊ยะ หรือพิณอีสาน ก็ยังมีคนเล่น มีคนรู้จัก มีคนสอน มีคนเรียน แต่สำหรับ แอคคอเดียน นี่ เกือบจะเรียกได้ว่า หาคนเล่นเป็นยากนักหนา จะหาฟังคนเล่นสดๆ ก็คงต้องไปรอดูตามคอนเสิร์ตเวทีไท หรือเวลามีงานคอนเสิร์ตลูกทุ่งที่เฉลิมกรุง เท่านั้น

 

ดังนั้น แม้จะใกล้ชิดกับเสียงของมันขนาดนี้ แต่ “องค์ความรู้เกี่ยวกับแอคคอเดียน”ในบ้านเรา มีน้อยเหลือเกิน

หากใครหลงรักเจ้าเครื่องดนตรีชิ้นนี้ จนไปซื้อหามาไว้ในครอบครอง(ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของผลิตจากจีน) จะเหลียวหาใครสอนก็ไม่ได้ หาหนังสือมาหัดก็แทบจะไม่มี ส่วนใหญ่ จึงไม่พ้นต้องหัดเล่นเอง และก็ไม่พ้นจะเล่นได้เพียงข้างเดียว ทั้งที่จริงๆ แล้ว แอคคอเดียนจะแสดงศักยภาพของมันได้สูงสุด เมื่อเล่นทั้งสองข้าง

 

ในแง่ความคุ้นเคย ผมเองก็ไม่ต่างจากคนทั่วไปที่เคยได้ยินเสียงแอคคอเดียนในฐานะเครื่องดนตรีประกอบเท่านั้น แต่แล้วเมื่อโลกเดินเข้าสู่ยุค WWW ข้อมูลข่าวสารถ่ายเทถึงกันได้ ผมได้มีโอกาสดูคลิปๆ หนึ่ง จากการค้นหาเพลงที่อยากฟังใน youtube เพลงนี้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Amelie(2001) ภาพยนตร์จากฝรั่งเศสที่ดังไปทั่วโลก ผมได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้และชอบเพลงประกอบมาก อยากจะหาโหลดมาเก็บไว้ฟัง ค้นไปค้นมาก็มาเจอคลิปนี้เข้า นั่นคือคลิปของคุณ Dave Thomas ที่เล่นเพลง La Valse d’ Amelie ด้วยแอคคอเดียนตัวเดียว

 

นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นว่า แอคคอเดียนเพียงตัวเดียว สามารถทำอะไรได้บ้าง และมันก็เปลี่ยนการรับรู้ของผมที่มีต่อแอคคอเดียนไปทั้งหมด